Black Wireless Router with 3 antenna.
Photo by Spack (CC0 1.0)

แบบ All in one (กล่องเดียวจบ) เปรียบเทียบกับ แบบแยก Modem/Wireless Router ประสิทธิภาพของความเร็วเน็ตไม่ได้แตกต่างกัน

ข้อแตกต่างกันระหว่างทั้งสองแบบ อยู่ที่ว่าผู้ใช้ต้องการฟังก์ชั่นมากแค่ไหน, มีเครื่องที่เชื่อมต่อพร้อม ๆ กันจำนวนเท่าไร
เท่าที่เจ้าของบล็อกจับประเด็นมาได้ ได้แก่

แบบ All in one

พวกนี้คือ พวกที่หน้ากล่องเขียนว่า Modem Router Wireless b/g/n (พวกนี้ตรงด้านหลัง จะมีช่องเสียบสายโทรศัพท์ มาให้เลย) แบบนี้คือพวกกล่องเดียวจบ

ข้อดี

  • ราคาถูก
  • ประหยัดไฟกว่า (ปลั๊กเดียวเอาอยู่)
  • สายรกน้อยกว่า
  • เหมาะสำหรับใช้ตามบ้านที่มีอุปกรณ์ไม่เยอะ (ไม่ถึง 10 เครื่องที่เชื่อมต่อพร้อมกัน) และผู้ที่ไม่ต้องการความสามารถพิเศษอะไรของ Wireless Router (ความสามารถทั่วไปของ All in one สำหรับผู้ใช้ตามบ้านส่วนใหญ่ทำได้ครบอยู่แล้ว)
  • ตั้งค่าง่ายมาก (รวมถึงพวก Forward Port ด้วย) เสียบสายเปิด กด กด จบ

ข้อเสีย

  • สเป็คจะไม่ค่อยสูงนัก
  • ใช้ฟังค์ชั่นตั้งค่าขั้นสูงไม่ได้ (มีแค่ตั้งค่าพื้นฐาน)
  • รองรับอุปกรณ์จำนวนมาก ๆ ไม่ไหว
  • บางรุ่นถ้าใช้งานนาน ๆ มักจะร้อนหรือโหลดหนักจนแฮ็งค์ไปเลย

แบบแยก Modem/Wireless Router (Seperate)

พวกนี้คือ มีอุปกรณ์ 2 ชิ้น
ตัวแรก เป็นโมเด็ม (Modem) ซื้อแยก
ตัวที่สอง หน้ากล่องเวลาซื้อจะเขียนว่า Wireless Router b/g/n/ac (เมื่อไม่มีคำว่า Modem ตรงหน้ากล่อง หมายความว่า ตรงด้านหลังไม่มีช่องเสียบสายโทรศัพท์)

เวลาต่อ จะนำสายโทรศัพท์ มาต่อ Modem ที่ตั้งค่าเป็น Bridge mode (Modem หมุนโทรต่อกับ ISP เสร็จ ส่งผ่านข้อมูลไปให้ Router ต่อเลย)
จากนั้นเอาสาย LAN ต่อออกจาก Modem มาเข้า Wireless Router
แล้วให้ตัว Wireless Router ที่ต่อแยก เป็นตัวจัดการควบคุมทุกอย่างแทน

ข้อดี

  • แบบ Wireless Router โดด ๆ สเป็ค (Spec) ของ Wireless Router มักจะดีกว่ามาก และมีให้เลือกหลากหลาย
    เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความสามารถพิเศษของ Wireless Router
  • ฟังค์ชั่นขั้นสูงมากกว่าแบบ All in one มาก
  • เนื่องจากราคาแพงกว่า พวกตัวท็อป Hardware คุณภาพจะค่อนข้างดี
  • เนื่องจาก Wireless Router สเปคจะค่อนข้างสูงกว่า ทำให้รองรับอุปกรณ์ในเครือข่ายไร้สายจำนวนมาก ที่เชื่อมต่อพร้อม ๆ กันได้
  • ยืดหยุ่นกว่าในการอัพเกรด
  • สามารถสลับ Modem ไปใช้เป็น Cable หรือ DSL Modem ได้ โดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ที่เหลือ
  • โอกาสโหลดจนแฮ็งค์น้อยกว่า

ข้อเสีย

  • ราคาแพงกว่า เพราะต้องซื้ออุปกรณ์ 2 ตัว
  • เปลืองไฟกว่า
  • สายรกกว่าแบบ All in one
  • ตั้งค่ายากกว่าเล็กน้อย

Wireless Router 802.11a/b/g/n/ac คืออะไร

เวลาเห็นหน้ากล่อง จะเห็นตัวเลข เช่น N600
จะหมายถึง 802.11n อัตราส่งถ่ายข้อมูลสูงสุด 600 Mbits/s (ความเร็วในการส่งข้อมูลจาก Wireless Router ไปยังตัวรับ ไม่ใช่ความเร็วเน็ต)
ส่วนใหญ่ที่ใช้ตัวแรง ๆ มักจะเอาไปทำ Media server แล้ว ทำ multimedia streaming เช่น พวกหนัง HD

IEEE 802.11 คือ มาตรฐานของ Wireless LAN
802.11a (1999) ย่านความถี่ 5 GHz, อัตราส่งถ่ายข้อมูลสูงสุด 54 Mbit/s
802.11b (1999) ย่านความถี่ 2.4 GHz, อัตราส่งถ่ายข้อมูลสูงสุด 11 Mbit/s
802.11g (2003) ย่านความถี่ 2.4 GHz, อัตราส่งถ่ายข้อมูลสูงสุด 54 Mbit/s
802.11n (2009) ย่านความถี่ 2.4 และ 5 GHz, อัตราส่งถ่ายข้อมูลสูงสุด 54-600 Mbit/s
802.11ac (2013) ตัวนี้ยังไม่เป็นมาตรฐานตัวเต็ม แต่มีผู้ผลิต ผลิตออกมาสู่ตลาดแล้ว ที่เห็นก็มี ac1300, ac1750

อย่างไรก็ตามต่อให้ใช้ Wireless Router ac
ก็ต้องดูด้วยว่า เจ้าอุปกรณ์ไร้สายที่เราใช้ (ฝั่งรับ) รองรับแค่ไหนด้วย
เช่น ใช้ Wireless Router ac1750
Tablet ที่เราใช้ ชิปรองรับ 802.11bgn
ความเร็วที่รับได้สูงสุดก็หนีไม่พ้น n

ขณะนี้ (ต้นปี 2013) อุปกรณ์ฝั่งรับที่ใช้ชิป ac ยังมีจำนวนอยู่ค่อนข้างน้อย แต่กำลังจะทยอยออกสู่ตลาดแล้ว
ส่วนตัว Wireless Router ac ยังมีราคาแพงอยู่ (แถมเป็นตัว draft อีกต่างหาก กว่าจะประกาศจริงจังก็ เดือนพฤศจิกายน 2013 ผู้ใช้ที่ซื้อมาแล้วก็รออัพ Firmware ไปเรื่อย ๆ)

ย่านความถี่คลื่น 2.4 GHz vs 5 GHz

2.4 GHz คลื่นไปไกล ทะลุสิ่งกีดขวางได้ดี แต่มีอุปกรณ์ที่ใช้ย่านความถี่นี้เยอะ (คลื่นสาธารณะ) เวลาอุปกรณ์อื่นถูกใช้งาน ความเร็ว Wi-Fi จะตกเอาดื้อ ๆ ได้ ส่วนข้อดีคือ เป็นที่นิยม อุปกรณ์รองรับเยอะ และราคาถูก
5 GHz คลื่นนี้เหมือนถนนโล่ง ๆ เลยส่งได้เร็ว ไม่มีสิ่งรบกวน แต่คลื่นไปไม่ค่อยไกล ทะลุสิ่งกีดขวางไม่ค่อยได้ มีอุปกรณ์ที่หาคลื่นนี้ได้น้อย และราคาแพง
0

เพิ่มความคิดเห็น

กำลังโหลด