แป้นพิมพ์แบบมาตรฐานหลักในปัจจุบัน


QWERTY Keyboard layout
QWERTY Keyboard layout

Kedmanee Keyboard layout
แป้นพิมพ์แบบเกษมณี (Kedmanee)


แป้นพิมพ์ที่ถูกปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น

(แต่ไม่ได้รับความนิยม)


Dvorak Keyboard layout
Dvorak Simplified Keyboard
Pattachote Keyboard layout
แป้นพิมพ์แบบปัตตะโชติ (Pattachote)
แป้นพิมพ์แบบ QWERTY เป็นแป้นพิมพ์รุ่นแรก ๆ ที่มากับเครื่องพิมพ์ดีด ที่ประสบความสำเร็จมาก
ถูกออกแบบมา ให้พยัญชนะที่อยู่ติดกัน ให้แยกออกจากกัน ก้านจะได้ไม่ไปขัดกัน
ซึ่งตัวอักษรที่ถูกใช้บ่อย ดันไปอยู่นิ้วก้อยซะส่วนใหญ่
ส่วนคำที่ไม่ถูกใช้ ก็อยู่ตรงนิ้วแข็งแรง รวมถึงแป้นเหย้าด้วย
เครื่องพิมพ์ดีด แข็งก็แข็ง คนพิมพ์ก็ปวดนิ้วมือ ข้อมือไปตาม ๆ กัน

ทีนี้ แป้นพิมพ์ดีดรุ่นหลัง ๆ เขาปรับปรุงจนปัญหาก้านขัดแทบไม่มีแล้ว
และมีเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้า รวมถึงคอมพิวเตอร์ออกมา
ซึ่งคีย์บอร์ดรุ่นใหม่พวกนี้ แทบจะไม่ต้องใช้แรงเคาะเหมือนเครื่องพิมพ์ดีดยุคโบราณแล้ว
แต่แป้นพิมพ์คีย์บอร์ด QWERTY ก็ยังตามมาหลอกหลอนอยู่

ที่จริงแล้ว มีคนเคยปรับปรุงลองเรียงแป้นพิมพ์ใหม่ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
คนนั้นคือ Dr. August Dvorak
ซึ่งได้ศึกษาจากคำที่ถูกพิมพ์บ่อย รวมไปถึงสังเกตคนที่ต้องพิมพ์ดีด และลองจัดกลุ่มทดลองเปรียบเทียบระหว่างแป้นพิมพ์ QWERTY และ Dvorak รวมถึงเทียบเวลาในการเรียนรู้ด้วย
ผลที่ออกมาคือ (ไม่รู้ bias หรือเปล่า) แบบ Dvorak เหนือกว่าเกือบทุกด้าน
แต่อย่างที่ว่า คนเขาเคยพิมพ์ QWERTY กันแล้ว ใครจะยอมเปลี่ยนมาใช้ Dvorak
สุดท้าย แป้นพิมพ์ Dvorak ก็ไม่ได้รับความนิยมไป

ของไทยก็มีเหตุการณ์คล้าย ๆ กัน คือ
แป้นแบบเกษมณี (Kedmanee) มาก่อน
ส่วนแบบปรับปรุงคือ ปัตตะโชติ (Pattajoti, Pattachote Keyboard Layout) มาทีหลัง
ปัจจุบัน เกษมณี เป็นแป้นที่พบได้เกือบทุกที่
ส่วนคนที่ใช้แบบ ปัตตะโชติ มีค่อนข้างน้อย จะเห็นแค่คนรุ่นเก่า ๆ ไม่กี่คน รวมถึงคนรุ่นใหม่บางคน (หายาก)

เท่าที่เจ้าของบล็อกทดลองใช้มา ขอแชร์ประสบการณ์ดังนี้

Dvorak Simplified Keyboard

ข้อดี

  • ฝึกพิมพ์สัมผัส (Touch typing) ง่ายกว่าแบบ QWERTY มาก ๆ
    เจ้าของบล็อก ใช้เวลาราว ๆ ครึ่งชั่วโมงก็พอจะเริ่มพิมพ์ได้แล้ว
    ต่างกับ QWERTY ที่เสียเวลาราว ๆ 3 วัน
    ถ้าอยากฝึกเจ้าของบล็อกแนะนำเว็บ Dvorak keyboard training
  • ใช้เวลาฝึกฝนพิมพ์สัมผัสราว ๆ 3-4 วัน ก็พิมพ์ได้เร็วปานกลางแล้ว
  • เมื่อยมือน้อยมาก แทบไม่ต้องขยับเยอะ เพราะคำที่ใช้บ่อยอยู่บนแป้นเหย้า (home row keys) เกือบทั้งหมด
    (QWERTY แป้นเหย้าสร้างได้แค่ 300 คำ
    DVORAK แป้นเหย้าสร้างได้ราว ๆ 3,000 คำ)
  • พิมพ์ได้ค่อนข้างเร็วมาก เพราะ
    • มือซ้าย กดสระ AOEUI ซึ่งภาษาอังกฤษทุกตัว มักต้องมีสระอย่างน้อย 1 คำ
    • มือขวา กดพยัญชนะ ที่ใช้บ่อย
    • เวลาพิมพ์ จะเหมือนกดเคาะสลับซ้ายขวาไปเรื่อย ๆ
  • ใช้กับ Windows 8 ได้ ทั้ง Dvorak และปัตตะโชติ
  • ในโทรศัพท์สมาร์ทโฟน (Smartphone) ส่วนใหญ่ ปัจจุบันรองรับ Dvorak แล้ว ไม่ค่อยมีปัญหา 
  • คนที่พิมพ์เร็วที่สุดในโลก รวมถึงพวก Geek หลาย ๆ ท่าน ก็ใช้แป้นแบบ Dvorak

ข้อเสีย

  • กดปุ่มลัด (Shortcut keys) ไม่ได้เหมือนเดิม
    สมมติ
    ถ้าต้องตัดข้อความ (Cut; Ctrl+X) จากที่นึงไปวาง (Paste; Ctrl+V) อีกที่นึง 
    • แป้นแบบ QWERTY กด Ctrl+X > Ctrl+V จบ
      ตัว X กับ V กดได้ด้วยมือซ้าย แถมอยู่ใกล้ ๆ กัน
    • แป้นแบบ Dvorak
      ตัว X จะอยู่ที่มือซ้าย ไม่มีปัญหา
      แต่ตัว V นี่สิ อยู่นิ้วนางมือขวา กดโดยใช้มือซ้ายข้างเดียวแบบเมื่อก่อนไม่ได้
      ตัว C ซึ่งใช้นิ้วกลางขวา ก็เจอปัญหาคล้าย ๆ กัน

      นี่ยังไม่รวมปิดหน้าจอ Ctrl+W (นิ้วกลางขวา), ค้นหา Ctrl+F (นิ้วชี้ขวา), เปิดแท็บใหม่ Ctrl+T (นิ้วกลางขวา)
  • เป็นแป้นที่หาได้ค่อนข้างน้อยในอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น
    • ในพจนานุกรมอิเลคทรอนิกส์ (Electronic dictionary, Talking Dictionary) แป้นส่วนใหญ่เป็น QWERTY หมดเลย
  • พิมพ์ Password เข้าเครื่องยาก โดยเฉพาะ Password ยาว ๆ เพราะรูปแบบการพิมพ์ไม่เหมือนเดิม
  • ใช้กับชาวบ้าน, คอมพิวเตอร์สาธารณะลำบาก เพราะทั้งหมดเป็น QWERTY!
  • เขาจะสอบพิมพ์อะไรก็ตาม เขาใช้ QWERTY กับ เกษมณี (Kedmanee) กันทั้งนั้น

แป้นปัตตะโชติ (Pattachote Keyboard Layout) 

ข้อดี

  • เหมือน Dvorak เลย
  • เวลาฝึกพิมพ์สัมผัส ราว ๆ 5 วัน 
  • ส่วนพวก Shortcut ไม่มีปัญหา ใช้ Ctrl+X, C, V ได้เหมือนแบบ QWERTY เลย
  • ใน Windows เปลี่ยน Layout ได้ไม่มีปัญหา

ข้อเสีย

  • แบบฝึกหัดหาไม่ได้เลย ต้องสร้างชุดคำขึ้นมาเอง แล้วก็หัดฝึกพิมพ์ (ความเร็วเต่าคลาน) เพราะไม่มีแบบฝึกหัด ต้องสร้างสด ๆ เอาเอง และคำไทยมากกว่าคำอังกฤษเกือบเท่าตัว
  • เลขไทย เรียงได้เปรี้ยวมาก
    ไม่เรียง ๑๒๓๔๕๖๗๘๙
    แต่เรียง ๒๓๔๕๗๘๙๐๑๖ (กด Numpad แทนแล้ว)
  • ในโทรศัพท์พวก Smartphone หลาย ๆ ยี่ห้อยังไม่รองรับแบบแป้นพิมพ์ปัตตะโชติ (เปิดมา เป็นแบบเกษมณีทั้งนั้น)
  • ใช้คอมพิวเตอร์ร่วมกับชาวบ้านลำบากเช่นกัน
  • สอบพิมพ์ เขาใช้ QWERTY กับ เกษมณี (Kedmanee)
  • Dvorak ใช้แป้นลัดแบบ QWERTY ไม่ได้
    ส่วนแป้นปัตตะโชติ ใช้แป้นลัดแบบ QWERTY ได้
    เวลาจะกดคีย์ลัด ทำให้เราสับสนว่าสรุป เรากดตัด, คัดลอก, วาง มาแล้วหรือยัง แล้วกดถูกภาษาหรือเปล่า

สรุป

เจ้าของบล็อกชอบแบบ Dvorak กับ ปัตตะโชติ มาก
ยกเว้นอยู่ 2 เรื่อง คือ
  1. ใช้คีย์ลัด (Shortcut keys) ลำบากมาก
  2. ใช้กับคอมพิวเตอร์, อุปกรณ์อื่น ๆ ลำบากมาก เพราะไปไหนก็เจอแต่ QWERTY, เกษมณี

ความเห็นส่วนตัวของเจ้าของบล็อก

เจ้าของบล็อกคิดว่า ถ้าคิดจะลงทุนฝึกแป้นพิมพ์แบบ Dvorak กับ ปัตตะโชติ (Pattajoti, Pattachote Keyboard Layout)
ควร รอ ให้อุปกรณ์หลาย ๆ อย่างรองรับมากกว่านี้ดีกว่า

และที่สำคัญ ผู้ใช้ต้องไม่ติดการกดปุ่มลัด (Shortcut) เหมือนกับเจ้าของบล็อก
เพราะ Dvorak กดปุ่มลัดค่อนข้างยาก (ยกเว้นจะไปโหลดแป้นรุ่นดัดแปลงพิเศษ แต่มันก็วุ่นวายอยู่ดี ถ้าต้องใช้หลายอุปกรณ์)
ส่วนถ้าใช้ผสมกับปัตตะโชติ แล้วต้องการใช้คีย์ลัดแบบเดิม ก็ต้องสลับภาษาก่อนกดตัด, คัดลอก, วาง แล้วก็ต้องสลับไปมา สับสนมาก

ที่สำคัญ เจ้าของบล็อกพิมพ์บทความนี้ด้วย QWERTY และ เกษมณี (Kedmanee) เรียบร้อยแล้ว

บทความที่เกี่ยวข้อง

ฝึกพิมพ์ ปัตตะโชติ (Thai Pattachote Keyboard Tutorial)
0

เพิ่มความคิดเห็น

กำลังโหลด